ระบำชุด เมขลารามสูร

เมขลา รชนีกร

เมขลา-รามสูร เป็นระบำเรื่อง ของนาฏศิลปะไทย  มีมาแต่โบราณ สำหรับแสดงเบิกโรงก่อนที่จะแสดงนาฏศิลปเรื่องใหญ่ เข้าใจว่าตรงกับ Prelude ของฝรั่ง  เมขลา  เป็นชื่อของนางฟ้าประจำทะเล คือ สมุทรเทวี  ส่วนรามสูร  เป็นชื่อของยักษ์ถือขวาน เข้าใจว่าเพี้ยนมาจาก “รามปรศุ” เรื่องที่เล่ากันมาแต่โบราณมีว่า

.
เมื่อถึงฤดูฝน ฝูงเทพบุตรเทพธิดาต่างก็ออกจากวิมานของตนๆ แล้วมาชุมนุมกันเล่นนักษัตรจับระบำรำฟ้อนกันสนุกสนาน  มีเทวดาองค์หนึ่ง ชื่อ อรชุน  มีพระขรรค์เป็นอาวุธคู่มือก็ออกจากวิมานของตนมาร่วมสนุก นางเมขลามีดวงแก้วเป็นคู่มือ  ก็มาร่วมขับร้องเพลงและโยนแก้วมณีเล่นเป็นแสงแวววับ  ในขณะเดียวกันนั้น   รามสูรยักษ์จรจัดไม่มีวิมานอยู่เที่ยวอาศัยอยู่ตามกลีบเมฆ มีขวานเป็นอาวุธคู่มือ  ก็จะมาร่วมสนุกกับเขาบ้าง แต่พอมาเห็นนางมณีเมขลาโยนแก้วเล่น  ก็อยากได้แก้ว  จึงวิ่งตามไล่จับ คิดจะแย้งเอาดื้อๆ นางเมขลาก็เยาะเย้าทำท่าจะให้แก้ว  แล้วก็ไม่ให้  ผละหนีไปเสีย พอรามสูรตามใกล้จะทันก็โยนแก้วฉายแสงเข้าตารามสูรให้ตาฟางตามหานางไม่พบ  รามสูรก็โกรธ  พอหายมัวตา  ก็ขว้างขวานดัง ครื้นครั่น

เมขลา-รามสูร

.

ซึ่งผู้ใหญ่ผู้เฒ่าแต่ก่อนมาชอบเล่าให้ลูกหลานฟังว่า  เวลาเสียงครื้นครั่นสนั่นหวั่นไหวนั้น  ว่าเป็นเสียงขวานของรามสูรที่ขว้างไป  ทั้งยังมีเรื่องเกร็ดเล่าต่อไปว่า  ที่จริงตัวรามสูรเองนั้นไม่ต้องการดวงแก้วมณี  อยากได้แต่ตัวนางมณีเมขลาส่วนดวงแก้วนั้นรามสูรจะเอาไปให้พระอินทร์  เพราะพระอินทร์ท่านสั่งไว้  ด้วยแก้วดวงนั้นนางเมขลาไปลักเอาของพระอินทร์ท่านมา เพราะนางเมขลาต้องมีหน้าที่เข้าเวรรับใช้พระอินทร์เป็นครั้งคราว  พระอินทร์คงจะไปเที่ยววางทิ้งเผอเรอไว้ จึงให้นางเมขลาลักไปได้และจะติดตามกันมาแต่กาลครั้งไรไม่ทราบ เข้าใจว่าว่าจนบัดนี้ รามสูรก็ยังไม่ได้ตัวนางเมขลาและพระอินทร์ก็ยังไม่ได้ดวงแก้วมณีคืน  เพราะยังเห็นแสงแก้วที่นางเมขลาฉายแสงเป็นฟ้าแลบแวบวับ และเสียงขวานของรามสูรเป็นฟ้าร้องเปรี้ยงปร้างอยู่ แสดงว่ายังติดตามกันอยู่จนทุกวันนี้  ยิ่งฤดูฝนด้วยแล้วดูติดตามกันกระชั้นชิดมาก ในขณะที่ติดตามกันอยู่นั้นอรชุนได้เหาะผ่านตัดหน้ารามสูรไป  รามสูรจึงโกรธหาว่าอรชุนดูหมิ่น  จึงละจากติดตามนางเมขลา  ตรงเข้ารบกับอรชุน ในที่สุดอรชุนพลาดท่า  ถูกรามสูรจับขาฟาดกับเขาพระสุเมรุ  อรชุนก็ตาย

เมขลาล่อแก้ว

เนื้อเรื่องที่เล่ามานี้  แต่เดิมคงเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศ  แล้วภายหลังนึกให้ดินฟ้าอากาศเหล่านี้เกิดเป็นตัวตนขึ้น  เช่น  เป็นยักษ์  นางฟ้า  เทวดา  เป็นต้น  เอาเรื่องฟ้าผ่าฟ้าร้องให้มีตัวตนเป็นยักษ์ถือขวาน  ขว้างขวานไปทีไรก็เป็นเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า เอาเรื่องฟ้าแลบให้มีตัวตนเป็นนางฟ้าถือดวงมณี และเอาเรื่องของฝนฟ้าให้มีตัวตนเป็นเทวดาแล้วเอาชื่อเทวดาทางอินเดียที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเรื่องที่กล่าวมานี้ให้เป็นชื่อของทั้ง ๓ นี้ว่า  รามสูร  เมขลา  และอรชุน ทางนาฏศิลปของไทยโบราณ  นำเอามาจัดทำเป็นระบำเรื่องสำหรับเล่นเบิกโรง บรรจุท่ารำในเรื่องนี้ให้เห็นได้เด่น  เช่น  ท่าแสดงความรื่นเริงสนุกสนาน

รามสูร-เมขลา

ท่ายั่วยวน  ท่ารัก  ท่าดีใจ  ท่าโกรธเคืองขัดแค้น  ท่าโลดไล่ติดตามด้วยความรักและความโกรธ  เหล่านี้เป็นต้น  ล้วนมีลีลาอันงดงามแบบนาฏศิลปของไทย   และแทรกเพลงขับร้องกับเพลงดนตรีเข้าประกอบให้ฟังไพเราะ  นิยมกันว่า  ระบำเรื่องเมขลารามสูรนี้เป็นนาฏศิลปชั้นเยี่ยมชนิดหนึ่งของไทย   เคยมีบทขับร้องที่ปรับปรุงตัดทอนมาจากพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์  สำนวนรัชกาลที่ ๑  ส่วนเพลงดนตรีประกอบระบำเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมาทรงบรรจุไว้แต่เดิม

.

.

คัดลอกมาจากหนังสืองานศพ คุณปู่สวัสดิ์ พันธุ์มณี