ประวัติรำวง

ตามคำบอกเล่าของคุณพ่อโสภณ พันธุ์มณี (น้องชายของอาจารย์สุภาพ-สัมพันธ์ พันธุ์มณี)  ซึ่งในช่วงสงครามโลก ท่านมีอายุประมาณเก้าขวบ  ได้เล่าว่า…

เมื่อสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง  ยังไม่มีใครในกรุงเทพรู้จักการรำวง  แต่หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สองไปได้สักพัก  การละเล่นรำวงก็ค่อยๆ แผ่ขยายเข้าพระนครมาเรื่อยๆ  ในยุคนั้นเรียกกันว่ารำโทน

.

สอบถามคุณพ่อแล้ว   ก็ไม่ทราบว่ารำโทนมีต้นกำเนิดมาจากไหน หมู่บ้านอะไร ใครคิด  แต่สาเหตุที่รำโทนมาเป็นที่นิยมของคนทั่วไปได้ก็เพราะในยุคสงครามโลกนั้น คนว่างมาก   หันไปไหนก็มีแต่สงคราม ไม่เหมือนยุคนี้ทีเร่งรีบแข่งขันกัน  และคนก็มีความเครียดความวิตกในสถานการณ์บ้านเมืองเป็นทุนเดิม   จึงต้องมีอะไรมาเล่นเพื่อคลายเครียด  และรำโทนเป็นการละเล่นที่ง่ายที่สุดในยามยากเข็ญ  เพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมากเลย  มีแค่กองไฟกองเดียวก็เล่นได้แล้ว


ลักษณะของการเล่นรำโทนในยุคนั้น  จากสายตาของประจักษ์พยานที่อาศัยอยู่ในยุคนั้นเอง   ก็คือ  ขอให้มีอะไรอยู่ตรงกลาง  เก้าอี้ โต๊ะ  ที่วางตะเกียงเจ้าพายุ  หรืออาจจะก่อกองไฟ  ก็สามารถจะเล่นได้แล้ว   โดยชาวบ้านจะล้อมวงอยู่รอบๆ ตะเกียงเจ้าพายุ หรึอกองไฟนั้น แล้วช่วยกันร้องเพลง  เครื่องดนตรีก็เป็นเครื่องเคาะที่ใกล้มือ  และสามารถเคาะให้เป็นจังหวะได้แล้วแต่บ้านไหนจะมีก็เอามาช่วยกัน  ซึ่งโทน และฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีให้จังหวะในยุคนั้นที่พวกชาวบ้านพอจะหามาใช้กันได้   คุณพ่อเล่าว่า  ในตอนนั้น โทนเป็นเครื่องให้จังหวะที่เวลาพวกขอทานใช้เวลาทำงาน  ก็จะมีโทนและฉิ่งนี่แหละเป็นเครื่องให้จังหวะ  ไม่ใช่เครื่องดนตรีที่หาได้ง่ายในยุคสงคราม  แต่ก็ไม่ใช่เครื่องดนตรีที่หายากเกินกำลังของชาวบ้าน  จึงนิยมใช้โทนกับฉิ่งในการให้จังหวะ
ส่วนพวกชาวบ้านอื่นๆ  ที่ไม่มีเครื่องดนตรี  แต่มาร่วมเล่นรำโทนก็จะเป็นฝ่ายร้อง (นักดนตรีก็ร้องกับเขาด้วยนะ)  ช่วยๆ กันร้องปรบมือเฮฮากันไปด้วยเพลงพื้นบ้านที่รู้จักกันทั่วไป  ง่ายๆ หรือสดๆ เลยก็มี  เนื้อเพลงรำในยุคนั้นเท่าที่คุณพ่อจำได้ก็ได้บอกให้ฟังด้วยค่ะมีว่าดังนี้
“น้องก็รำโสภี เอ๋ยพี่ก็รำโสภา เธอจ๋ารักฉันไหม ใครเล่าจะรักเธอได้ รักกลับกลายมาจืดมาจาง เชื่ออะไรเขาบอก เขาหลอกให้เราเฝ้าหลง เขาหลอกให้เราพะวง ชอกช้ำระกำใจตาย”

ในเวลาต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม  เห็นความสำคัญของการละเล่นนี้   จึงให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง  จึงให้ทางกรมศิลปากรจัดการปรับปรุงท่ารำและเนื้อร้องให้มีแบบแผนที่แน่นอน   จึงทำให้เกิด “รำวงมาตรฐาน”  ขึ้นในเวลาต่อมาโดยใช้ท่ารำวงพื้นฐานจาก “ท่ารำแม่บท”  ซึ่งจะได้กล่าวถึงในคราวต่อไป

.

แต่แท้จริงแล้วความเป็นมาของรำวงก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้  และเรายังสามารถรำวงได้ทุกครั้งที่เราต้องการโดยไม่จำเป็นต้องกำหนดตัวเองให้อยู่ใน “รำวงมาตรฐาน” ของศิลปากรเท่านั้น  ยังมีเพลงของ “สุนทราภรณ์” ที่แต่งเพื่อให้คนเล่นรำวงก็มี  อย่างเช่น “เพลงลอยกระทง”  ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

ปรัญญา พันธุ์มณี