ว่าด้วยหลักสูตรของโรงเรียนนาฏศิลป์สัมพันธ์

(หลักสูตรปกติ)

 

เมื่อครั้งได้เล่าถึงเรื่องที่เคยคุยกับอาจารย์สุภาพและอาจารย์สัมพันธ์เกี่ยวกับหลักสูตรการรำนาฏศิลป์ของโรงเรียนนาฏศิลป์สัมพันธ์ที่ดูเหมือนว่าจะเบาก็ไม่เบา จะหนักก็ไม่หนัก ว่าหลักสูตรเหล่านี้มีที่มาอย่างไร อาจารย์สัมพันธ์ได้คัดเลือกบทเพลงแต่ละเพลงเข้ามาบรรจุไว้ในหลักสูตรของเรา (โรงเรียนของเรา) ด้วยแนวความคิดอย่างไรนั้น  มีคุณครูหลายท่านที่อยากให้เราเขียนเล่าเหล่านี้เอาไว้เป็นลายลักษณ์เพื่อจะได้เอื้อประโยชน์ต่อครูและนักเรียนในโรงเรียน ที่น่าจะได้รู้ว่าการที่ตนต้องฝึก ต้องสอน และต้องเรียนบทเพลงต่างๆ ในหลักสูตรชั้นต้นนั้น บทเพลงแต่ละเพลงจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เรียนอย่างไรได้บ้าง

 

ครูสัมพันธ์เคยเล่าให้เราฟังว่า แต่ละบทเพลงในหลักสูตรชั้นต้นของโรงเรียนนาฏศิลป์สัมพันธ์ ครูไม่ได้นำเพลงมาใส่อย่างมั่วซั่วแค่พอให้เด็กได้ฝึกเรียนฝึกรำเสียที่ไหน แต่ในเพลงทั้ง 4 ของหลักสูตรบทเรียนชั้นต้นนั้น ครูได้คิดและปรึกษากับคุณยายครูลมุล (ครูลมุล ยมะคุปต์) เป็นอย่างดีแล้วว่า บทเพลงเหล่านั้นจะเสริมสร้างอะไรให้กับผู้เรียนได้บ้าง ครูจึงได้นำเพลงนั้นๆ มาใส่ในหลักสูตร เรียงลำดับที่ผู้เรียนควรฝึกฝนอย่างเป็นขั้นตอนทีละสเต็ปกันเลยทีเดียว

 

ครูสัมพันธ์ได้กล่าวเอาไว้ว่า โรงเรียนนาฏศิลป์สัมพันธ์นั้นไม่เหมือนกับศิลปากร ที่ถึงแม้ว่าครูทั้งสอง (ครูสุภาพและครูสัมพันธ์) จะร่ำเรียนวิชารำมาจากศิลปากรก็ตาม แต่ความแตกต่างของโรงเรียนเอกชนที่สอนพิเศษนั้น ก็ทำให้ครูไม่สามารถดำเนินหลักสูตรดังเช่นโรงเรียนเฉพาะทางที่ฝึกพื้นฐานการรำไทยให้แก่ผู้เรียนด้วย “เพลงช้า-เพลงเร็ว” ได้ ทั้งนี้เพราะโรงเรียนเรารับนักเรียนตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป (ในสมัยแรกเริ่มก่อตั้ง ครูรับนักเรียนอายุ 7 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันนาฏศิลป์สัมพันธ์รับนักเรียนตั้งแต่อายุ 6 ปี ขึ้นไป) ซึ่งเด็กอายุ  ขวบนับว่ายังเด็กเกิรกว่าที่จะให้ฝึกเรียงเพลงช้า-เพลงเร็ว โดยเฉพาะถ้าว่ากันตามตรงแล้ว เพลงช้าเพลงเร็วแม้จะเป็นเพลงที่ฝึกพื้นฐานได้ดีแต่ก็เป็นเพลงที่น่าเบื่อเกินไปสำหรับเด็กเล็ก ดังนั้นครูจึงเลือกเพลงที่สามารถฝึกพื้นฐานได้และไม่น่าเบื่อสำหรับเด็กๆ ทั้งหมดมารวมอยู่ในหลักสูตรบทเรียนตอนต้นของโรงเรียนนาฏศิลป์สัมพันธ์ โดยแต่ละบทเพลงล้วนมีลำดับความสำคัญดังนี้

 

หลักสูตรบทเรียนตอนต้น

 

 

1.แม่บทเล็ก เพลงนี้ครูสัมพันธ์บอกว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงนี้ก็ยังถือว่ายากสำหรับเด็กเล็กอายุ 6-7 ปี แต่หากเราตัดเพลงช้า-เพลงเร็ว ออกไปแล้ว แม่บทเล็กคือเพลงพื้นฐานที่จะละให้เด็กไม่เรียนไปโดยไม่ได้เด็ดขาด เพราะนับเป็นเพลงแม่ท่าของการรำไทย ท่ารำและเนื้อเพลงอาจจะยากไปสักเล็กน้อย แต่หากเด็กฝึกรำเพลงนี้จนจบได้แล้ว เพลงรำเพลงต่อๆ มาของหลักสตรก็จะกลายเป็นเพลงง่ายที่เด็กนักเรียนพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป  โดยเพลงแม่บทเล็กนี้ โรงเรียนนาฏศิลป์สัมพันธ์ใช้ระยะเวลาในการสอน 16 สัปดาห์ (สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง)

 

2.เพลงสีนวล เป็นเพลงที่สั้น และดูเหมือนง่ายมากสำหรับเด็ก แต่เพลงนี้ครูสัมพันธ์ได้เลือกเข้ามาในหลักสูตรเพราะถึงแม้จะเป็นเพลงที่สั้นและท่ารำง่ายๆ แต่ก็นับได้ว่าเป็นเพลงที่จะฝึกสร้างกำลังขาให้แก่ผู้เรียนได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มตั้งแต่ท่าออกของเพลงที่สีนวลจะไม่ได้สอดสร้อยยืดยุบ ซอยเท้าออกมาเหมือนอย่างแม่บทเล็ก แต่เป็นเพลงที่นักเรียนต้องก้าวเท้ารำออกมาทีละก้าวๆ นักเรียนเด็กเล็กจะเรียนรู้จากท่าออกของเพลงโดยธรรมชาติว่าการก้าวของนาฏศิลป์นั้นจะไม่ได้เป็นเพียงการก้าวเดินธรรมดาๆ เพราะในแต่ละจังหวะการก้าว นักเรียนต้องทิ้งน้ำหนักลงเท้าที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีลีลา ในจุดนี้ครูผู้ฝึกสอนก็จะต้องคอยจับและบอกเด็กอยู่เสมอว่าจะต้องก้าวอย่างไร เอียงด้านไหน หากเด็กรำไม่สวยเราก็ต้องเข้าไปจัดท่า กดเอว ไหล่ ให้เด็กก้าวและเอียงได้อย่างสวยงามอ่อนช้อย นักเรียนจะเรียนรู้การลงน้ำหนักของช่วงก้าวนาฏศิลป์ได้จากท่ารำออกของเพลงสีนวลนั่นเอง

นอกจากนี้ในช่วงกลางเพลงสีนวลยังมีท่ารำที่นักเรียนต้องกระดกขา (ยกขาไปด้านหลัง) และค่อยๆ หมุนรอบตัวไปทั้งที่ใช้ขาเพียงข้างเดียวถึง 2 ครั้ง ครูสัมพันธ์เล่าเอาไว้ว่า ท่านี้แหล่ะที่จะฝึกกำลังขาให้กับเด็กเล็กผู้ฝึกเรียนรำ ทำให้ขาแข็ง… หมายถึง นักเรียนมีกำลังขามากพอที่จะกระดกขา ยกขา ก้าวขา โดยทิ้งน้ำหนักลงขาข้างเดียวได้นานๆ โดยที่ขาไม่สั่น นับเป็นบทเพลงที่ฝึกลีลาการใช้ขาสำหรับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดีโดยที่นักเรียนจะเพลิดเพลินไปกับบทเพลง ฝึกรำได้อย่างไม่รู้เบื่อ

 

3.วรเชษฐ์

นอกจากลีลาตัวนางที่อ่อนช้อยงดงามซึ่งผู้เรียนจะได้รับจากการรำเพลงสีนวลแล้ว วรเชษฐ์ นับเป็นอีกเพลงหนึ่งที่ฝึกลีล่าการใช้ภาษาหน้าตาทางนาฏศิลป์ได้สำหรับทั้งตัวพระและตัวนาง ซึ่งมิใช่เพียงเท่านั้น หากวรเชษฐ์ยังเป็นเพลงที่ฝึกกำลังแขนและลีลาการใช้แขนให้สอดคล้องไปกับสีหน้าและดวงตาของผู้รำได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ครูสัมพันธ์ได้กล่าวเอาไว้ว่า วรเชษฐ์ เป็นเพลงที่เด็กๆ รำแล้วในเบื้องแรกจะรู้สึกทรมานเพราะเมื่อยแขนเป็นอย่างมาก เพราะท่ารำในบทเพลงที่นักเรียนจะต้องยกแขนให้ตึงเสมอไหล่ เล่นลีลาสะบัดมือ จีบ ปล่อย สลับ วง โดยต้องระวังไม่ระดับแขนที่ยกเสมอไหล่นั้นร่วงตกลงมาดูไม่สวย ทำให้ผู้เรียนจะเรียนรู้ด้วยร่างกายของตนเองถึงการเกร็งของจังหวะมือจีบ มือปล่อย ความเมื่อล้าที่เกิดขึ้นในระหว่างฝึกท่ารำตามบทเพลงนั้น จะทำให้ผู้เรียนสามารถจับจังหวะการใช้มือของตนเองได้อย่างถูกต้องว่าต้องเกร็งมืออย่างไร ปล่อยจีบอย่างไร จึงจะทำให้ตนเองไม่ปวดแขน นอกจากผู้เรียนจะเรียนรู้จังหวะเหล่านี้ได้แล้วก็ยังเป็ฯการเสริมสร้างกำลังแขนให้กับผู้เรียนที่จะทำให้ตั้งวงยกแขนได้อย่างสวยงามเป็นระยะเวลานานๆ ได้อีกด้วย

นอกเหนือจากเรื่องกำลังแขนแล้ว ครูสุภาพ (พี่สาวครูสัมพันธ์) ก็ยังเสริมไว้อีกด้วยว่าการใช้สายตาที่ครูบอกให้นักเรียนมองตามมือจีบ การลักคอ ลอยหน้า การกวาดตาต่างๆ ในเพลงนี้ ครูผู้ฝึกสอนจะต้องย้ำกับเด็กและสอนให้เด็กทำให้ได้โดยสมบูรณ์ซึ่งจะละทิ้งไปมิได้เลย เพราะสิ่งต่างๆ ที่ครูกล่าวมาทั้งหมดในเพลงนี้ จะฝึกลีลาหน้าตาให้เด็กสามารถขึ้นแสดงบนเวทีได้อย่างสวยงาม มีสเน่ห์ ตามฉบับแบบนาฏศิลป์ไทยอย่างถ่องแท้เลยทีเดียว

 

4.ฉุยฉายพราหมณ์

บทเพลงที่ยากที่สุดสำหรับบทเพลงในหลักสูตรบทเรียนชั้นต้น ซึ่งครูสัมพันธ์นำเพลงนี้มาในบทเรียนชั้นต้นด้วยเหตุผลที่ว่า  หากนักเรียนร่ำเรียนบทเพลงต่างๆ ในหลักสูตรชั้นต้นมาจนครบหมดทุกเพลงนับแต่แม่บทเล็กจนถึงวรเชษฐ์ได้แล้ว ผู้เรียนก็นับได้ว่าจะมีความพร้อมของร่างกาย(โดยธรรมชาติ)เป็นอย่างยิ่งที่จะเรียนเพลง ฉุยฉายพราหมณ์ นี้ได้

โดยเพลงฉุยฉายพราหมณ์นั้น ครูสัมพันธ์กล่าวไว้ว่า เป็นเพียงเพลงที่ ดูเหมือน จะยากเท่านั้น ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านนาฏศิลป์การจะฝึกฝนเพลงนี้จนถึงขั้นรำได้คล่องแคล่วนั้นก็คงะยากจริงๆ แต่หากนักเรียนผ่านหลักสูตรบทเรียนตอนต้นของนาฏศิลป์สัมพันธ์มาจนครบดังกล่าวแล้ว เมื่อมาฝึกฉุยฉายพราหมณ์ก็จะสามารถจำท่า ลีลา และรำได้อย่างคล่องแคล่วโดยใช้ระยะเวลาการฝึกฝนไม่นานนัก ซึ่งฉุยฉายพราหมณ์นั้นเป็นเพลงรำที่ผู้รำจะต้องใช้ทั้งสมาธิ กำลังแขน กำลังขา ลีลาหน้าตา ทั้งหมดทั้งสิ้นในร่ายรำบทเพลงนี้ออกมาได้อย่างสวยงาม

คุณครู(ผู้เขียน)ยังจำได้ถึงตอนที่ครูสัมพันธ์หยอดท้ายขณะที่เราคุยเรื่องหลักสูตรของโรงเรียนด้วยกัน โดยครูสัมพันธ์บอกเอาไว้ว่า

“อันที่จริงตั้งใจจะให้ฉุยฉายพราหมณ์เป็นเหมือนเพลงสอบ ถ้าต่อท่ารำฉุยฉายพราหมณ์ให้แล้วเด็กรำไม่ได้ครูจะให้ไปเรียนสีนวลใหม่  แต่ตั้งแต่เปิดโรงเรียนมาไม่มีเด็กคนไหนที่ผ่านสามเพลงแรกมาแล้วยังต่อท่ารำฉุยฉายพราหมณ์ไม่ได้… ไม่มีเลยสักคน”

นอกเหนือจากหลักสูตรอันจะทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนตนเองจากบทเพลงรำต่างๆ แล้ว ทั้งครูสุภาพและครูสัมพันธ์ยังได้กำชับเอาไว้ด้วยว่า มิใช่เพียงแค่หลักสูตรให้รำตามเพลงแล้วเด็กจะรำได้สวย ครูผู้สอนนั่นแหละที่สำคัญที่สุด ครูที่สอนรำต้องไม่ใช่แค่รำเป็น แต่ต้องสอนเป็นด้วย ครูที่สอนเป็นคือครูที่ดูออกว่าเด็กรำไม่สวยตรงไหน รำไม่ได้ตรงไหน และปรับแก้ท่าให้เด็กได้ การจับท่าให้เด็กในการรำนาฏศิลป์นั้นมันไม่ใช่แค่จับ แต่คนที่สอนเด็กได้ต้องรู้หักด้วยว่าจะต้องจับเด็กยังไง จับตรงไหนเด็กถึงจะรำตามมือครูได้อย่างไม่คืนท่า (คืนท่า = การจัดท่ารำให้เด็กแล้ว ทันทีที่ครูปล่อยมือเด็กจะกลับสู่ท่าเดิมโดยไม่คงท่าตามมือที่ครูจับ)  เช่นว่าจะให้เด็กยืดหลัง รำหลังตรง ต้องกดตรงชายกระเบนเหน็บ  จะให้เด็กกดไหล่ เอียงบ่าลงมา ต้องกดไปที่เส้นของเอว เด็กจะเอียงลงมาเอง เราไม่กดไหล่เด็กให้เอียง ถ้าไหล่เด็กจะคืนท่า แบบนั้นเรียกว่าครูสอนไม่ได้เพราะจับเด็กไม่เป็น  ถ้าจะจับระดับวงของสองแขนนั่นแหล่ะครูถึงจะต้องกดไหล่ คนที่สอนได้ต้องดูให้ออกว่าท่าไหนจะต้องจับเด็กยังไง ถ้าดูไม่ออกแปลว่ายังสอนไม่เป็น ต้องกลับไปฝึกตัวเองอีกเยอะๆ

ครูสุภาพ พันธุ์มณี

ที่สำคัญ ครูสุภาพยังเคยย้ำมากับคุณครู(ผู้เขียน)อีกด้วยว่า  “เราไม่ตีเด็กนะ ตีเด็กไม่ได้ทำให้เด็กรำสวย จับเด็กให้เป็นต่างหากสำคัญ พ่อแม่เค้าเอาลูกมาฝากให้เราสอน เราจะไปหยิกไปตีลูกเค้าไม่ได้ ถ้าเด็กคืนท่าครูต้องไม่ตี แต่ต้องฝึกตัวเอง ต้องคอยสังเกตเด็กให้ดี ดูเด็กว่าคนนี้ต่างกับคนอื่นยังไง ทำไมเค้าถึงคืนท่า ต้องจับแบบไหนเค้าถึงจะรำได้สวย เรารำได้ รู้ท่ารำเยอะเรายังเป็นครูไม่ได้ แต่ถ้าเราฝึกเด็กให้รำสวยได้เมื่อไหร่นั่นแหละ เราถึงจะได้ชื่อ ครู สอนรำ”